งานประชุมวิชาการและนิทรรศการ ประจำปี 2567 หรือ NECTEC-ACE 2024
วันอังคารที่ 10 กันยายน 2567 เวลา 08.30 - 16.30 น.
ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ชั้น 2 (ฮอลล์4)
เปิดลงทะเบียนวันที่ 19 สิงหาคม 2567 - 9 กันยายน 2567
กรุณากรอกข้อมูลให้ครบถ้วน และถูกต้อง

เรียน ทุกท่าน เนื่องจากงาน NECTEC-ACE2024 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้ามาจำนวนมาก เพื่อให้การต้อนรับในวันงาน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทางคณะผู้จัดงาน ต้องกราบขออภัยในการปิดระบบลงทะเบียนในวันที่ 9 กันยายน 2567 เวลา 14.00 น.




พิธีเปิด
09:00 - 10:00 น. @ แกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม (Grand Diamond Ballroom)
NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2024 (NECTEC-ACE 2024)

ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” โดยมุ่งเน้นด้าน “เปิดโลกเทคโนโลยียุคใหม่ ด้วยเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ: The Next Era of Thai Intelligent Sensors”


หัวข้อการสัมมนา พิเศษ
10:15 - 11:30 น. @ แกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม (Grand Diamond Ballroom)
ยกระดับนิเวศของการพัฒนาเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ

"ยกระดับนิเวศของการพัฒนาเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ" นำเสนอภาพรวมของระบบนิเวศเซนเซอร์อัจฉริยะ บทบาทและประสบการณ์จากหน่วยงานต่างๆ หลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐผู้กำหนดนโยบาย กลไกการขับเคลื่อนเซนเซอร์อัจฉริยะ ผู้พัฒนาเซนเซอร์ ภาคเอกชน/ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการ ครบทุกส่วนภายในระบบนิเวศเซนเซอร์อัจฉริยะ พร้อมนำเสนอโอกาสของเซนเซอร์ไทย ทางออกที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในระบบนิเวศเซนเซอร์อัจฉริยะของโลก


หัวข้อการสัมมนา 1
13:00 - 14:30 น. @ แซฟไฟร์ (Sapphire) 204
การเชื่อมโยงข้อมูล : หัวใจสำคัญในการผลักดันนวัตกรรม IoT และการเปลี่ยนผ่านสู่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Shifting from Conventional to Smart Electronics: The Role of Telecommunication in Driving IoTs Innovation)

การผสานรวมเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร รวมไปถึงแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยผลักดันนวัตกรรม IoT สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างไร?

  • บทบาทสำคัญของโทรคมนาคมกับการออกแบบและสร้างโซลูชัน IoT
  • เทคโนโลยี eSIM และการบริหารจัดการวงจรชีวิตเพื่อการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ง่ายขึ้น
  • โทรคมนาคมแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนายานยนต์อัจฉริยะและระบบขนส่งแห่งอนาคต
  • กลยุทธ์ของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในการสนับสนุนและขยายระบบนิเวศ IoT
  • ทิศทางและนวัตกรรมในอนาคตของโทรคมนาคมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและการประยุกต์ใช้เซนเซอร์

พร้อมเสวนาในหัวข้อ "ฝ่าฟันอุปสรรค สู่ความสำเร็จ: ยกระดับตลาดเซนเซอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในไทย" ซึ่งเชิญเหล่าผู้เชี่ยวชาญในระบบนิเวศ มาบอกเล่าถึงการประยุกต์ใช้จริง แอปพลิเคชันในปัจจุบัน ความท้าทาย และโอกาสของเซนเซอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะด้านเกษตรอัจฉริยะ


หัวข้อการสัมมนา 2
14:45 - 16:15 น. @ แซฟไฟร์ (Sapphire) 204
สร้างระบบนิเวศเซนเซอร์ไอโอที สำหรับภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรดิจิทัล (Building Smart Ecosystems: IoT Sensors in Industry and Agriculture)

ในปัจจุบันเทคโนโลยีเซนเซอร์ - ไอโอทีถูกนำเข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอย่างแพร่หลาย โดยการนำข้อมูลต่างๆจากเซนเซอร์ - ไอโอทีจำนวนมาก ไปทำการวิเคราะห์และบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุนในการดำเนินงาน ทั้งนี้การออกแบบและพัฒนาระบบนิเวศให้เหมาะสมต่อการประยุกต์ใช้งานต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งสำคัญ โดยในการเสวนานี้จะเป็นการนำเสนอมุมมองและแนวทางในการสร้างระบบนิเวศสำหรับเซนเซอร์ - ไอโอที ที่เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรซึ่งถือเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อที่สามารถรองรับการใช้งานจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรดิจิทัลในอนาคต ทั้งในส่วนของระบบรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวขอข้อมูล การบูรณาข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์เชิงลึก การพัฒนามาตรฐาน และการสนับสนุนจากภาครัฐที่จะสามารถช่วยยกระดับขีดความสามารถของผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศ ซึ่งจะเป็นบทบาทสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเทคโนโลยีเซนเซอร์ - ไอโอทีทั้งภายใน และต่างประเทศได้

ประเด็นเสวนา :

  • เซนเซอร์ - IoT: เมื่อฟาร์ม VS โรงงาน
  • ทิศทางเซนเซอร์ - IoT: จัดระบบนิเวศเพื่อเกษตรและอุตสาหกรรม
  • เชื่อมโยงนโยบาย: หนุนผู้ประกอบการสู่ความสำเร็จในอุตสาหกรรมเซนเซอร์ - IoT
  • ก้าวหน้าเซนเซอร์ - IoT: วิจัยและพัฒนาเพื่อผู้ประกอบการแห่งอนาคต

หัวข้อการสัมมนา 3
13:00 - 14:45 น. @ แซฟไฟร์ (Sapphire) 205
ทำเงินจากเม็ดทราย (From Sand to Sensors)

การบรรยายเรื่อง "Intelligent Sensors เซนเซอร์ที่มีความฉลาดมากขึ้น เป็นพื้นฐานสำคัญในการเก็บข้อมูล เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ ต่อยอดสู่การพัฒนาได้หลากหลายอุตสาหกรรม" บริษัท เอเอ็มดี ฟาร์อีสต์ จำกัด (ประเทศไทย) มีเทคโนโลยีล้ำสมัยครอบคลุม ทั้งในส่วน Database, Big Data, AI ที่จะเข้ามาผนวกการทำงานเข้ากับเซนเซอร์ ให้กลายเป็น Intelligent Sensors ทำให้เซนเซอร์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ด้วยตัวเอง ตอบกลับเป็นชุดคำสั่ง และทำงานได้ตามที่กำหนดไว้ ข้อมูลเหล่านี้จะเกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ใช้ กลุ่มนักพัฒนาสินค้าบริการ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชัน ซึ่ง Intelligent Sensors มีผลเป็นอย่างมากกับทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศ AMD หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งทำให้ประเทศไทยได้ใช้เทคโนโลยีในเชิงสร้างสรรค์ เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ และการพัฒนาประเทศ บรรยายโดย วิทยากรจากบริษัทเอเอ็มดี ฟาร์ อีสท์ ลิมิเต็ด (AMD Far East Ltd.)

การเสวนาช่วงที่ 1 "ทำเงินจากเม็ดทราย (From Sand to Sensors)" นำเสนอภาพรวมในอุตสหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โอกาสทางธุรกิจของประเทศกับแนวคิด "More than Moore" และนำเสนอเทคโนโลยีการผลิตเซนเซอร์ตั้งแต่ "เม็ดทราย" จนได้เป็นตัวเซนเซอร์ โดยวิทยากรจากศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) สวทช. โดยมีประเด็นสำคัญในการเสวนาคือ

  • ทรายกลายเป็นชิปได้อย่างไร
  • More than Moore คืออะไร
  • ไทยมีโอกาสอะไรบ้างในอุตสาหกรรมนี้
  • เซนเซอร์สำคัญอย่างไรและเราเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไร

การเสวนาช่วงที่ 2 "สานฝันให้เป็นจริง (From ideas to reality)" นำเสนอการพัฒนาเซนเซอร์ร่วมกับพันธมิตร จากแนวคิดสู่อุปกรณ์ที่ใช้งานได้จริง โดยผสานความเชี่ยวชาญของวิศวกรสร้างดาวเทียม นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ วิศวกรไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ ในการพัฒนานวัตกรรมที่เปลี่ยนเม็ดทรายเป็นเซนเซอร์มูลค่าสูง นำไปสู่การสร้างต้นแบบอุปกรณ์ตรวจวัดสภาวะอวกาศ หรือ space weather payload สำหรับดาวเทียม ในโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) หรือ TSC-1 ซึ่งจะเป็นดาวเทียมสำรวจดวงแรกที่ประกอบในประเทศทั้งหมดโดยฝีมือคนไทย แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย


หัวข้อการสัมมนา 4
13:00 - 14:30 น. @ แซฟไฟร์ (Sapphire) 206
ก้าวสู่อนาคตเซนเซอร์อัจฉริยะไทย: จากงานวิจัยสู่ตลาด (Advancing Thai Intelligent Sensors: From Research to Market)

การเสวนา "ก้าวสู่อนาคตเซนเซอร์อัจฉริยะไทย: จากงานวิจัยสู่ตลาด" นำเสนอภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์อัจฉริยะในประเทศไทย โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิจัย ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันวิจัย

ประเด็นเสวนา ดังนี้

  • การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเร่งการพัฒนาเชิงพาณิชย์สำหรับเทคโนโลยีเซนเซอร์
  • โซลูชันการประมวลผลประสิทธิภาพสูงสำหรับการประมวลผลข้อมูลเซนเซอร์ยุคถัดไป
  • จากแนวคิดสู่ความเป็นจริง: การออกแบบระบบฝังตัวสำหรับระบบนิเวศของอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง
  • นวัตกรรมเสาอากาศและเซนเซอร์แม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับการประยุกต์ใช้ในอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง
  • บทบาทของเซนเซอร์อัจฉริยะในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
  • มาตรฐานและการประกันคุณภาพในอุตสาหกรรมเซนเซอร์อัจฉริยะของไทย

ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของเทคโนโลยีเซนเซอร์อัจฉริยะในประเทศไทย ตั้งแต่งานวิจัยพื้นฐานไปจนถึงการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม รวมถึงความท้าทายที่กำลังเผชิญ และโอกาสในการพัฒนาและการลงทุนในอนาคต การเสวนานี้เหมาะสำหรับนักวิจัย ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบายที่สนใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซนเซอร์อัจฉริยะของไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอุตสาหกรรม 4.0


หัวข้อการสัมมนา 5
14:45 - 16:15 น. @ แซฟไฟร์ (Sapphire) 206
เส้นทางสู่ Decarbonization ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน

นำเสนอแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่เกิดจากการผลิตของภาคการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Global Warming) โดยผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรอัจฉริยะ และประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องมือวัดต่าง ๆ เช่น เซนเซอร์ด้านพลังงาน การวัดประสิทธิภาพการผลิต เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น รวมทั้งนำเสนอแพลตฟอร์มการบริหารจัดการคาร์บอนแบบอัตโนมัติ (ACAMP; Automated Carbon Accounting Management Platform) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน และจะช่วยติดตามการเกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้รายวัน รายเดือน รายปี ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากหน่วยงานภาครัฐที่เป็นกำลังหลักในการช่วยให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอนไปสู่ชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง


หัวข้อการสัมมนา 6
15:15 - 16:15 น. @ แซฟไฟร์ (Sapphire) 205
เปิดประตูสู่ความสำเร็จของอุตสาหกรรม..ขอรับการส่งเสริมง่าย เริ่มต้นได้ทันที

การบรรยายแนวทางการส่งเสริมการสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment : BOI) เริ่มจากแนวทางการส่งเสริมการสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการจาก BOI ภาพรวมของการส่งเสริมการลงทุน มาตรการการส่งเสริมโดยทั่วไปและเจาะลึกเงื่อนไขการและสิทธิประโยชน์ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงขั้นตอนการขอรับการสนับสนุน พร้อมกับการแบ่งปันประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI โดยผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจการเกษตร และ Semiconductor